5 ข้อควรรู้เกี่ยวกับฝีดาษลิง ด้วยจำนวนผู้ป่วยที่เพิ่มขึ้นทั่วโลก และการแพร่เชื้อจากไวรัส อย่ามองว่าเป็นเรื่องไกลตัว การเฝ้าระวังอาการช่วยให้ผู้ป่วยได้รับการรักษาที่ถูกต้องและลดการแพร่เชื้อได้ค่ะ
สรุปจากแนวทางปฏิบัติการวินิจฉัย การดูแลรักษาและการป้องกันการติดเชื้อ กรณีโรคฝีดาษวานร (Monkeypox) ฉบับ วันที่31 กรกฎาคม 2565
1. ฝีดาษลิงเป็นเชื้อไวรัส คือ monkeypox virus ซึ่งเป็นเชื้อในกลุ่มของ Orthopoxvirus genus, family Poxviridae 2. โรคฝีดาษลิงเป็นโรคที่อาการไม่รุนแรง แต่จะมีอาการรุนแรงได้ในผู้ที่มีภูมิคุ้มกันต่ำและเด็กเล็ก โดยมีอัตราการตายต่ำกว่าร้อยละ 5 3. ระยะเวลามีอาการของโรค ประมาณ 2 - 4 สัปดาห์ 4. อาการและอาการแสดง ผู้ป่วยมักเริ่มด้วยอาการไข้ และผื่น จะเริ่มจากตุ่มแดง ประมาณ 5-7 วันหลังรับเชื้อ และตุ่มจะเปลี่ยนเป็นตุ่มน้ำ ตุ่มหนอง และแห้งเป็นสะเก็ด ตุ่มมีจำนวนมากน้อยตาม ความรุนแรงของโรค และการตอบสนองของผู้ป่วย รวมระยะเวลาประมาณ 2 ถึง 4 สัปดาห์ 5. เชื้อแพร่กระจายโดยการสัมผัสผื่นผู้ป่วยโดยตรงในระยะแพร่เชื้อ หรือสารคัดหลั่งจากผู้ป่วย
อาการที่ควรเฝ้าระวังของโรคฝีดาษลิง ผู้ป่วย มีไข้ อ่อนเพลีย ปวดหัว ปวดเมื่อยตามร่างกาย ต่อมน้ำเหลืองโต (เห็นเป็นก้อนบริเวณใกล้ไหปลาร้า) หลังจากมีไข้ประมาณ 1-3 วัน จะมีตุ่มเล็ก ๆ ขึ้นตามตัว (ทั้งตัวรวมถึงอวัยวะเพศ) โดยลักษณะตุ่มเป็นดังนี้ - มีตุ่มนูนแดงคล้ายผื่น - ภายในตุ่มมีน้ำใสอยู่ภายใน รู้สึกคัน แสบร้อน - เมื่ออาการรุนแรงขึ้น ตุ่มใสกลายเป็นหนอง และจะแตกออก แห้งไปเอง - ผู้ป่วยอาจมีอาการท้องเสีย อาเจียน เจ็บคอ ไอ หอบเหนื่อยร่วมด้วยได้
ในรายที่ภูมิคุ้มกันต่ำ หรือมีโรคประจำตัวอาจมีภาวะแทรกซ้อนทำให้อาการรุนแรงอันตรายถึงชีวิตได้
#หากพบผู้ป่วยที่มีอาการสงสัยเหมือนฝีดาษลิงให้โทรศัพท์แจ้งโรงพยาบาลใกล้บ้านหรือสาธารณสุขจังหวัดเพื่อเข้ามารับไปทำการรักษาในโรงพยาบาลต่อไป
อ้างอิง แนวทางปฏิบัติการวินิจฉัย ดูแลรักษา และการป้องกันการติดเชื้อ กรณีโรคฝีดาษวานร (Monkeypox) ฉบับที่ 1 วันที่31 กรกฎาคม 2565