เขากุยคืออะไร มันช่วยร่างกายได้จริงๆไหม มาอ่านกันค่ะ
- ร้านแสงทองเภสัช
- 7 ก.พ. 2566
- ยาว 1 นาที
อัปเดตเมื่อ 7 มิ.ย. 2566
เขากุยคืออะไร

กุย เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมชนิดหนึ่ง ที่มีเท้าเป็นกีบและมีเขา คนจีนเรียกว่า เกาปี่ หลิงหยาง ชื่อวิทยาศาสตร์คือ: Saiga tatarica ซึ่งเขาของกุยในตำราแพทย์แผนโบราณในแถบเอเชียเชื่อว่ามีฤทธิ์เย็น และดับพิษไข้ได้ดี
ตำรายาไทย จัดเขากุยอยู่ในเครื่องยาประเภทสัตว์วัตถุ หรือเรียกว่าโกฐสิงคลี มีฤทธิ์เย็นจัด มีรสเค็ม ใช้ในผู้ป่วยที่มีไข้สูง และมีอาการอื่นๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับอาการไข้สูง เช่น ชัก หมดสติ เพ้อคลั่ง เป็นต้น อีกทั้งยังใช้ตัวยานี้เป็นยากันชักได้อีกด้วย โดยพบว่าเมื่อรับประทานโกฐสิงคลีนี้เข้าไปแล้วจะทำให้ร่างกายเย็นลง (อ้างอิง ชยันต์ พิเชียรสุนทร และ วิเชียร จีรวงศ์. คำอธิบายตำราพระโอสถพระนารายณ์. พิมพ์ครั้งที่ 2. กทม. อัมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง. 2548. หน้า 253 – 255)
ข้อมูลวิทยาศาสตร์ของเขากุย เภสัชเองพยายามหาข้อมูลที่เป็นงานวิจัยว่า มีการศึกษาประสิทธิภาพของยาน้ำเขากุยว่าสามารถลดไข้ได้จริงๆหรือไม่ ปรากฏว่า #ไม่พบข้อมูลดังกล่าว แต่มีงานวิจัยที่สิงคโปร์ ซึ่งเป็นประเทศที่นิยมการดื่มน้ำเขากุยเป็นลำดับต้นๆของโลก และมีการขายเขากุยกันอย่างจริงจัง รวมทั้งทำวิจัยเรื่องเขากุยกันอย่างจริงจัง พบว่า - คนส่วนใหญ่ดื่มเขากุยเพื่อลดปัญหาร้อนใน (coolant)* - 42% ของคนไข้บอกว่า กินแล้วได้ผล** - ซื้อเขากุยกันที่ร้านขายของชำ ร้านยาที่สิงคโปร์แทบไม่มีขายเขากุยเลย และพบว่า น้ำแก้ร้อนในทั้งหลายในซุปเปอร์มาร์เก็ตชื่อเขากุยแต่ไม่มีเขากุยผสม - หลายๆงานวิจัยพยายามเสนอทางเลือกให้ปรับเป็นใช้เขาควาย หรือเขาของสัตว์อื่นๆแทน เนื่องจากภาวะสูญพันธุ์ของกุย แต่การเปลี่ยนแปลงยังทำได้ยาก - มีเพียงงานวิจัยเดียวที่รัซเซีย ที่เอามาวิเคราะห์ด้วยHPLC พบว่า ส่วนประกอบของเขากุย แรด และควาย มีส่วนประกอบเหมือนกันคือ เคราติน, กรดอะมิโน, เปปไทด์, แคลเซียม, โครเมียม, ทองแดง, เหล็ก, แมกนีเซียม, สังกะสี ด้วยส่วนประกอบดังกล่าว ส่งผลให้เขากุยมีความแข็งมากๆ เวลาใช้ทำยาจึงต้องนำมาขูดๆค่ะ
เนื่องจากปัจจุบัย กุย อยู่ในสภาวะใกล้สูญพันธุ์เนื่องจากมีการล่าเพื่อนำเขามาทำยาแผนโบราณ โดยเขาของกุยมีราคาสูงมาก เทียบเท่ากับนอแรดทีเดียว (แรดล่ายากกว่าเยอะ ขณะที่กุยล่าง่ายกว่า จึงเป็นสาเหตุหลักของภาวะใกล้สูญพันธ์ของสัตว์ชนิดนี้)
ปัจจุบันเขากุยมีราคาสูงมาก ดังนั้นในการผลิตยาน้ำเขากุยมาจำหน่ายจึงมีการผสมสมุนไพรอื่นๆเข้ามาเพื่อช่วยเสริมฤทธิ์ในการแก้ร้อนใน ลดไข้ด้วยเช่นกัน สมุนไพรอื่นๆในยาน้ำเขากุยได้แก่ เต็งซิม กั๊วกิง เลี้ยงเคี้ยว กิกแก้ กิมงิ่งฮวย (อ้างอิงจาก ฉลากยาน้ำเขากุยตราอ้วยอันโอสถ) หลายๆท่านจึงกินน้ำเขากุยแล้วได้ผลดีในการแก้ร้อนในค่ะ