จากข่าวในช่วงไม่กี่วันที่ผ่านมา เรื่องโรคไข้ดิน ในพื้นที่ 6 ตำบลของ อ.เทพา จ.สงขลา จำนวน 7 คน เสียชีวิตแล้ว 5 คน ตั้งแต่เดือนเมษายน-ตุลาคมที่ผ่านมา
คนไข้แวะมาถามเภสัชหน้าร้านกันหลายคนเลยค่ะ เพราะนึกว่ามีโรคเกิดใหม่ ชวนให้ตกใจกันอีกแล้ว เภสัชจึงขอนำมาอธิบายเพิ่มเติมในเพจนะคะ
โรคไข้ดินคืออะไร
1. "โรคไข้ดิน" หรือ “โรคเมลิออยด์” เป็นชื่อภาษาไทยอย่างเป็นทางการสำหรับโรค Melioidosis #ไม่ใช่โรคใหม่ค่ะ เป็นโรคติดเชื้อจากเชื้อแบคทีเรียชนิดหนึ่ง (Burkholderia pseudomallei) ซึ่งพบได้ในดินและแหล่งน้ำ โรคนี้มีการระบาดมานานมากแล้วค่ะ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคอีสานของประเทศไทย บางพื้นที่อาจจะเรียกว่า “โรคไข้ดิน” “โรคฝีดิน” และ “โรคมงคล่อเทียม" ก็ได้ 2. การติดต่อของโรคไข้ดิน - ติดต่อทางผิวหนังจากการสัมผัสดินและน้ำ ถึงแม้ไม่มีแผลที่ผิวหนังก็สามารถติดเชื้อได้เช่นกัน หากมีแผลและแช่น้ำนานก็จะมีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อสูงกว่า - เชื้อเข้าสู่ร่างกายผ่านทางการรับประทานอาหารที่มีดินปนเปื้อน หรือการดื่มน้ำที่ไม่ได้ผ่านการต้มสุก - ผ่านทางการหายใจโดยหายใจฝุ่นดินเข้าไปในปอด หรือโดนละอองฝน 3. อาการและอาการแสดง มีแตกต่างกันดังต่อไปนี้ -ไข้สูง อาจมีการติดเชื้อในกระแสเลือด ซึ่งพบได้ประมาณ 50% ของผู้ป่วย - ปอดติดเชื้อเฉียบพลัน เช่น ไข้ ไอมีเสมหะ เจ็บหน้าอก การติดเชื้อใน ปอดพบได้ประมาณ 50% ของผู้ป่วยทั้งหมด และมักพบร่วมกับการติดเชื้อในกระแสเลือด - ติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะ เช่น ไข้ และอาจมีปัสสาวะแสบ ขัด การติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะพบได้ประมาณ 25% ของผู้ป่วย - ติดเชื้อในข้อ เช่น ไข้ มีข้อบวม แดง ร้อน การติดเชื้อในข้อพบได้ ประมาณ 10% ของผู้ป่วยทั้งหมด - ฝี พบได้บ่อยในตับ ม้าม ต่อมน้ าเหลือง ตามผิวหนัง และอาจพบได้ในทุก อวัยวะในร่างกายเช่น สมอง ตา ช่องคอ ปอด ต่อมลูกหมาก ฝีในตับและม้ามพบได้ประมาณ 33% ของผู้ป่วย - ผู้ป่วยส่วนใหญ่มีอาการรุนแรงและเฉียบพลัน (90%) แต่ผู้ป่วยบางรายก็อาจมีอาการเรื้อรังและให้อาการคล้ายโรคอื่นๆ ได้ เช่น ไอเรื้อรังคล้ายวัณโรค แผลเรื้อรังคล้ายมะเร็งผิวหนัง 4. การวินิจฉัย เนื่องจากอาการเริ่มต้นทั่วไป วินิจฉัยได้ยาก จึงควรยืนยันด้วยผลการเพาะเชื้อจากห้องlab ผู้ป่วยส่วนใหญ่เสียชีวิตภายในเวลาอันรวดเร็ว (ภายใน 24 ถึง 48 ชั่วโมง) โดยเฉพาะผู้ป่วยที่ไม่ได้รับการรักษาด้วยยาปฏิชีวนะที่ครอบคลุมเชื้อเมลิออยด์ (ซึ่งไม่มีขายในร้านยา) ดังนั้นหากเป็นผู้เสี่ยงสูง เช่นมีอาชีพทางการเกษตรในพื้นที่ที่มีการระบาด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในจ.สงขลาในช่วงนี้ หากมีอาการไข้ ไอเรื้อรังแนะนำให้ไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาล อย่าซื้อยากินเองก่อนค่ะ 5. การรักษา พบแพทย์เพื่อรับยาฆ่าเชื้อ ในรายที่มีอาการมาก อาจจะต้องนอนโรงพยาบาลเพื่อรับยาทางหลอดเลือด สิ่งที่สำคัญคือห้ามหยุดยาเอง เพราะผู้ป่วยที่รับประทานยาไม่ครบจะกลับมาเป็นซ้ำ โดยที่การกลับเป็นซ้ำจะมีความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตสูง
อ้างอิง 1.Limmathurotsakul D, Peacock SJ (2011) Melioidosis: a clinical overview. British medical bulletin 99: 125-139. 2. Bhengsri S, Baggett HC, Jorakate P, Kaewpan A, Prapasiri P, et al. (2011) Incidence of bacteremic melioidosis in eastern and northeastern Thailand. The American journal of tropical medicine and hygiene 85: 117-120. 3. Cheng AC, Currie BJ, Dance DA, Funnell SG, Limmathurotsakul D, et al. (2013) Clinical Definitions of Melioidosis. The American journal of tropical medicine and hygiene 88: 411- 413.