โรคไข้เลือดออก
- ร้านแสงทองเภสัช
- 28 มิ.ย. 2561
- ยาว 1 นาที
อัปเดตเมื่อ 23 พ.ค. 2566
ในช่วงไม่กี่วันที่ผ่านมา เภสัชเจอผู้ป่วยที่ร้านเป็นไข้เลือดออกทั้งที่รู้ตัวและไม่รู้ตัวอย่างน้อยวันละ 2-3 คน ทุกวัน จึงอยากให้ทุกๆท่านตระหนักไว้ว่าปีนี้ ผู้ป่วยไข้เลือดออกมีจำนวนเยอะมาก ณ ช่วงเวลาเดียวกัน ปี 2561 มีรายงานผู้ป่วยมากกว่าปีที่แล้ว ร้อยละ 34.24 (1.34 เท่า) และมีผู้ป่วยเพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ที่ผ่านมา2,735 ราย (กรมควบคุมโรค ข้อมูลวันที่ 26 มิย 61)

อาการผู้ป่วยที่ต้องสงสัยโรคไข้เลือดออก ได้แก่ เด็ก: มีอาการไข้เฉียบพลันและสูงลอยเกินกว่า 2 วัน (ไข้สูงลอย หมายถึง ทานยาลดไข้แล้วไข้ไม่ค่อยลง ไข้ยังคงสูงต่อเนื่อง) อ่อนเพลีย อาจมีอาการผื่นๆ หน้าแดงๆ หรือคลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง ผู้ใหญ่: มีอาการไข้เฉียบพลันและสูงลอยเกินกว่า 2 วัน อ่อนเพลีย กินได้น้อย หรือคลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง
ข้อมูลไข้เลือดออกล่าสุด สถานการณ์โรคไข้เลือดออกของประเทศไทย (ณ วันที่ 16 พฤษภาคม 2561) พบผู้ป่วยไข้เลือดออก จำนวนทั้งสิ้น 10,446 ราย อัตราป่วย 15.87 ต่อประชากรแสนคน เสียชีวิต 15 ราย (อัตราป่วยตายร้อยละ 0.14) สำหรับจังหวัดสงขลา ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. ถึง 17 พ.ค. 61 มีผู้ป่วยไข้เลือดออกจำนวนทั้งสิ้น 324 ราย อัตราป่วย 23.00 ต่อประชากรแสนคน ไม่มีรายงานผู้ป่วยเสียชีวิต พบผู้ป่วยส่วนใหญ่ในกลุ่มอายุ แรกเกิด ถึง 4 ปี ร้อยละ 21.98 รองลงมาเป็นกลุ่มอายุ 5-9 ปี ร้อยละ 21.24 และกลุ่มอายุ 10-14 ปี ร้อยละ 15.70 ตามลำดับ อำเภอที่มีอัตราป่วยต่อประชากรแสนคนสูงสุด คือ อำเภอสิงหนคร รองลงมา คือ อำเภอเมืองสงขลา จะนะ นาหม่อม และอำเภอสะเดา ตามลำดับ ข่าวจากhttp://thainews.prd.go.th/website_th/news/news_detail/WNSOC6105250010057

อาการ
ในการติดเชื้อไวรัสแดงกีครั้งแรก ผู้ป่วยส่วนใหญ่ (80-90%) จะไม่แสดงอาการ ผู้มีอาการจะมีไข้สูง ปวดศีรษะ ปวดกล้ามเนื้อ ปวดกระดูก และมีผื่นที่ผิวหนังได้ แต่ถ้าติดเชื้อครั้งที่สอง โดยเชื้อที่ต่างสายพันธุ์กับครั้งแรก อาจเป็นไข้เลือดออก ซึ้งมีอาการสำคัญแบ่งแบ่งออกได้ 3 ระยะ คือ
1. ระยะไข้ ผู้ป่วยจะมีไข้สูงเกือบตลอดเวลา เด็กบางคนอาจชัก เนื่องจากไข้สูง เบื่ออาหาร คลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง มักมีหน้าแดง และอาจมีผื่นหรือจุดเลือดออกตามลำตัว แขน ขา ระยะนี้จะเป็นอยู่ราว 2-7 วัน
2. ระยะช็อค ระยะนี้ไข้จะเริ่มลดลง ผู้ป่วยจะซึม เหงื่อออก มือเท้าเย็น ชีพจรเต้นเบาแต่เร็ว ปวดท้อง โดยเฉพาะบริเวณใต้ชายโครงขวา ปัสสาวะออกน้อย อาจมีเลือดออกง่าย เช่น มีเลือดกำเดาไหล อาเจียนเป็นเลือด อุจจาระมีสีดำ ในรายที่รุนแรง จะมีความดันโลหิตต่ำ ช็อค และอาจถึงตายได้ ระยะนี้กินเวลา 24-48 ชั่วโมง
3.ระยะพักฟื้น อาการต่างๆจะเริ่มดีขึ้น ผู้ป่วยรู้สึกอยากรับประทานอาหาร ความดันโลหิตสูงขึ้น ชีพจรเต้นแรงขึ้นและช้าลง ปัสสาวะมากขึ้น บางรายมีผื่นแดงและมีจุดเลือดออกเล็กๆ ตามลำตัว

การรักษา
เนื่องจากยังไม่มียาต้านเชื้อไวรัสที่มีฤทธิ์เฉพาะสำหรับเชื้อไวรัสเดงกี การรักษาตามอาการจึงเป็นสิ่งสำคัญที่สุด
1. ให้ยาพาราเซทตามอลในช่วงที่มีไข้สูง ห้ามให้ยาแอสไพริน หรือยาลดไข้สูง ไอบูโพรเฟน เพราะจะทำให้เลือดออกรุนแรงขึ้น
2. ถ้ามีอาการคลื่นไส้อาเจียนให้ยาแก้คลื่นใส้และให้ดื่มน้ำเกลือแร่หรือน้ำผลไม้ครั้งละน้อยๆ แต่บ่อยครั้ง
คอยสังเกตอาการอย่างใกล้ชิด เพื่อจะได้ป้องกันภาวะช็อคได้
ระยะที่เกิดช็อคส่วนใหญ่จะเกิดพร้อมๆกับช่วงที่ไข้ลดลง ผู้ปกครองควรทราบอาการก่อนที่จะช็อค คือ อาจมีอาการปวดท้อง ปัสสาวะน้อยลง มีอาการกระสับกระส่ายหรือซึมลง มือเท้าเย็นพร้อมๆกับไข้ลดลง หน้ามืด เป็นลมง่าย หากเป็นดังนี้ต้องรีบนำส่งโรงพยาบาลทันที